กฤษฎีกา ชี้ช่องข้อกฎหมาย อำนาจ “มท.1 - ผู้ว่าฯ ราชบุรี” สั่งถอดถอน “นาง ศ.” อดีตนายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี ได้ แม้จะพ้นจากตําแหน่ง “นายกเทศมนตรี” ไปแล้วเกินสองปี หลัง ป.ป.ช. ชี้มูลผู้บริหารท้องถิ่นร่ำรวยผิดปกติ ต้นเดือน ม.ค. 2568 ย้ำ เป็นไปตามอํานาจที่บัญญัติไว้ ของ พ.ร.บ.ประกอบ รธน.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
วันนี้ (8 พ.ค.) มีรายงานจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 (ด้านการเมืองการปกครอง ทุจริต และประพฤติมิชอบ) มีความเห็นในเรื่องเสร็จที่ 476/2568
กรณี กระทรวงมหาดไทย มีหนังสือ ลับ ด่วนที่สุด ที่ มท 0804.3/1211 ลงวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 (ต่อมา ยกเลิกชั้นความลับ เมื่อ เม.ย. 2568) ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการสั่งให้พ้นจากตำแหน่งกรณีผู้บริหารท้องถิ่นร่ำรวยผิดปกติ
“กรณีมีหนังสือจาก คณะกรรมการ ป.ป.ช. ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มีมติชี้มูลความผิดคดีสำคัญกรณีร่ำรวยผิดปกติ นางศมานันท์ เหล่าวณิชวิศิษฐ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี วาระที่ 1 ระหว่างวันที่ 27 ต.ค. 2553 - 26 ก.ย. 2557 และวาระที่ 2 ระหว่างวันที่ 23 ก.พ. 2558 - 28 เม.ย. 2559”
โดยมีทรัพย์สินมากผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ จำนวน 10 รายการ รวมมูลค่าทั้งสิ้น 231,742,807.50 บาท ป.ป.ช. ได้ส่งเรื่องมาเพื่อสั่งถอดถอน นางศมานันท์ ออกจากตำแหน่ง ภายในหกสิบวัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
มหาดไทย มีข้อหารือว่า แต่เนื่องจากปัจจุบัน นางศมานันท์ มิได้ดํารงตําแหน่งดังกล่าวแล้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ไม่อาจสั่งให้ นางศมานันท์ พ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 122 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ได้
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) เห็นว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2560 เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ตราขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
หากบทบัญญัติใด ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว กำหนดหน้าที่และอํานาจหรือวิธีการใดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
การดำเนินการใดๆ จึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัตินั้น โดยไม่จําเป็นต้องดำเนินการตามกระบวนการหรือขั้นตอนปกติ ที่มีกฎหมายอื่นกําหนดไว้ เว้นแต่ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญนั้น จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น
โดยกรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่สวนและวินิจฉัยว่า เจ้าหน้าที่ของรัฐร่ำรวยผิดปกติ นั้น มาตรา 122 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
กําหนดกระบวนการไว้เป็น 2 ประการ กล่าวคือ ประการที่หนึ่ง การดําเนินคดีเพื่อขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติตกเป็นของแผ่นดิน ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 122 วรรคหนึ่ง
และประการที่สอง การดําเนินการให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตําแหน่ง โดยกรณีของผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น มาตรา 122 วรรคห้า
กําหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งคําวินิจฉัยพร้อมด้วยข้อเท็จจริง โดยสรุปไปยังผู้มีอํานาจสั่งให้พ้นจากตําแหน่งเพื่อสั่งให้พ้นจากตําแหน่งภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
และให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหากระทําการทุจริตต่อหน้าที่ โดยมาตรา 122 วรรคหก กําหนดให้ ผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอน หรือผู้มีอํานาจสั่งให้พ้นจากตําแหน่ง มีอํานาจสั่งไล่ออก
หรือดำเนินการถอดถอนได้ โดยไม่ต้องสอบสวน หรือขอมติจากคณะรัฐมนตรี หรือความเห็นชอบจากองค์กรบริหารงานบุคคล
ด้วยเหตุนี้ การดําเนินการของผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอํานาจแต่งตั้งถอดถอน หรือผู้มีอํานาจสั่งให้พ้นจากตําแหน่งในการสั่งลงโทษ หรือสั่งให้ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากตําแหน่ง กรณีร่ำรวยผิดปกติ
จึงเป็นการใช้อํานาจที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะตามบทบัญญัติของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
ผู้มีอํานาจสั่งให้พ้นจากตําแหน่ง จึงต้องดําเนินการสั่งให้บุคคลดังกล่าวพ้นจากตําแหน่งโดยไม่ต้องพิจารณาตามเงื่อนไขหรือกระบวนการ ที่กําหนดไว้ในกฎหมายอื่นอีก
ทั้งนี้ ตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (ที่ประชุมร่วม คณะที่ 1 คณะที่ 2 และคณะที่ 13) ในเรื่องเสร็จที่ 315/2563 และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ในเรื่องเสร็จที่ 1008/2567
ดังนั้น ประเด็นที่ว่า ผู้ใดเป็นผู้มีอํานาจสั่งให้ นางศมานันท์ พ้นจากตําแหน่ง นายกเทศมนตรีเมืองราชบุรี ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติว่า ผู้ถูกกล่าวหา ร่ำรวยผิดปกติ
และผู้มีอํานาจ สั่งให้พ้นจากตําแหน่ง จะสามารถสั่งให้ นางศมานันท์ พ้นจากตําแหน่งดังกล่าว แม้ว่า นางศมานันท์ จะพ้นจาก ตําแหน่งไปแล้วเกินสองปี ได้หรือไม่
เห็นว่า การใช้อํานาจสั่งให้ นางศมานันท์ พ้นจากตําแหน่ง ตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในกรณีนี้ เป็นการใช้อํานาจเฉพาะตามมาตรา 122 วรรคหนึ่ง และวรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
มิใช่การสั่งให้พ้นจากตําแหน่งตามมาตรา 73/1 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไข เพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติเทศบาล (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2562
กรณีจึงไม่ต้องอยู่ภายใต้กรอบระยะเวลา ตามมาตรา 73/1 แต่โดยที่มาตรา 1228 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ.ประกอบ รัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ ไม่ได้บัญญัติไว้ว่าผู้ใดเป็นผู้มีอํานาจสั่งให้ พ้นจากตําแหน่ง
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 73/1 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล พ.ศ. 2496 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ 24) พ.ศ. 2562
ซึ่งกําหนดให้ในกรณีที่เป็นการ ดําเนินการสอบสวนของนายอําเภอ ให้นายอําเภอรายงานให้ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจารณา และสั่งให้ ผู้ถูกสอบสวนพ้นจากตําแหน่ง
และในกรณีที่เป็นการดําเนินการสอบสวนของผู้ว่าราชการจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการจังหวัด รายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยพิจารณาและสั่งให้ผู้ถูกสอบสวน พ้นจากตําแหน่ง
จะเห็นได้ว่า ผู้มีอํานาจสั่งให้พ้นจากตําแหน่ง ได้แก่ ผู้ว่าราชการจังหวัด หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แล้วแต่กรณี ตามมาตรา 122 วรรคห้า แห่ง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ
ประกอบกับมาตรา 73/1 แห่ง พ.ร.บ.เทศบาล โดยสามารถสั่งให้ นางศมานันท์ พ้นจากตําแหน่งตามมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ แม้ว่า นางศมานันท์ จะพ้นจากตําแหน่งนายกเทศมนตรีดังกล่าวไปแล้วเกินสองปี.