วันนี้(8 พ.ค.)นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดงาน “วันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ” ประจำปีงบประมาณ 2568 ณ ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน ชั้น 5 โดยมี นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน นายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายภุชงค์ วรศรี ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงแรงงาน นางบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหารกระทรวงแรงงาน มีผู้แทนจาก ILO ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน แรงงาน นักเรียน นักศึกษา และเครือข่ายความปลอดภัยทั่วประเทศ เข้าร่วมกว่า 300 คน ณ ชั้น 5 ห้องประชุมกระทรวงแรงงาน
.
นายพิพัฒน์ กล่าวว่า “ความปลอดภัยในการทำงานไม่ใช่แค่ข้อบังคับทางกฎหมาย แต่คือหลักประกันพื้นฐานของชีวิตแรงงานไทยทุกคน” พร้อมย้ำว่าในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลและ AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้น การพัฒนาทักษะแรงงานต้องเดินคู่กับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในทุกสถานประกอบการ กระทรวงแรงงานได้ดำเนินนโยบาย “Safety Thailand” อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งด้านการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ปลุกจิตสำนึกด้านความปลอดภัย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในทุกจังหวัด โดยตั้งเป้าลดอุบัติเหตุร้ายแรงจากการทำงานเหลือไม่เกิน 1 ต่อ 1,000 คน และลดการเสียชีวิตจากการทำงานเหลือไม่เกิน 3 ต่อ 100,000 คน ภายในปี 2573
.
นายพิพัฒน์ ยังเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติและอุบัติเหตุในอนาคต ทั้งจากเครื่องจักรในไซต์งาน ไปจนถึงภัยธรรมชาติอย่างแผ่นดินไหวและอุทกภัย โดยระบุว่า “การฝึกซ้อมอย่างสม่ำเสมอและการมีระบบรับมือที่ชัดเจน จะช่วยลดความสูญเสียได้มากกว่าการรอให้เกิดเหตุการณ์”
.
นายพิพัฒน์ กล่าวต่อถึงกรณีการเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้งจากการก่อสร้างบนท้องถนน กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในการทำงาน โดยเฉพาะโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ เช่น ถนนพระราม 2 ที่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จัดประชุมเจ้าของโครงการ ผู้รับเหมา และผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัย เพื่อกำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยร่วมกัน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2568 ที่ผ่านมา พร้อมได้แต่งตั้ง “คณะทำงานเฉพาะกิจด้านความปลอดภัยแรงงานเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและเฝ้าระวังโครงการก่อสร้างเสี่ยงสูงอย่างใกล้ชิด จึงได้กำชับให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามกฎเหล็ก 5 ข้อ (5 Golden Rules) อย่างเคร่งครัด กฎเหล็ก 5 ข้อ ความปลอดภัยงานก่อสร้าง (Safe Cons. Together) ได้แก่ 1. กำหนดเขตก่อสร้าง–เขตอันตรายให้ชัดเจน 2. โครงสร้างต้องออกแบบได้มาตรฐาน 3. ตรวจสอบเครื่องจักรหนักตามหลักวิศวกรรม 4. ผู้ควบคุมงาน–ผู้อนุมัติต้องรับผิดชอบชัดเจน 5. แรงงานต้องใส่อุปกรณ์ป้องกันครบถ้วน
“การบาดเจ็บอาจแก้ไขได้ แต่การสูญเสียคือ สิ่งที่เราไม่มีวันได้กลับคืน กระทรวงแรงงานจะทำทุกทางเพื่อให้แรงงานไทยกลับบ้านได้อย่างปลอดภัยทุกวัน” นายพิพัฒน์ กล่าว