เปิดกลยุทธ์ 3 ประสาน สร้างการ ‘เรียนรู้ ร่วมแรง เร่งมือ’ ของ AIS หวังยกระดับภารกิจป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ ใน "ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์” ตัดวงจรมิจฉาชีพตั้งแต่ต้นทาง พร้อมร่วมมือกับสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ กสทช. ขับเคลื่อนประเทศไทยให้ปลอดภัย
ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีสถิติการแจ้งความออนไลน์สะสมตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 - 30 เมษายน 2568 เป็นคดีออนไลน์ 887,315 เรื่อง รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 8.9 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยความเสียหาย 77 ล้านบาทต่อวัน
โดยเป็นการหลอกลวงทั้งในรูปแบบของ การถูกหลอกให้โอนเงินผ่านแอปพลิเคชันปลอม ถูกดูดเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว หรือแม้แต่ถูกล้วงข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในทางมิชอบ ทำให้ภาครัฐออกมาตรการป้องกัน และแก้ไข ทั้งตัดวงจรแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ไปจนถึงการแก้ไขกฎหมายควบคุมบัญชีม้า-ซิมม้า
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่า จากรายงาน Global Risk Report 2025 ชี้ว่า ข้อมูลบิดเบือนและข่าวปลอม เป็นความเสี่ยงอันดับหนึ่งของโลก และ การโจรกรรมและสงครามไซเบอร์ อยู่ในอันดับที่ 5 ซึ่งทั้งสองภัยนี้จะยังคงอยู่ต่อไปอีก 10 ปี
“ปัญหาภัยไซเบอร์เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะยกระดับความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้เป็น วาระแห่งชาติ สิ่งสำคัญที่สุดคือประชาชนต้องช่วยตัวเอง โดยการเรียนรู้และรู้เท่าทันภัยคุกคาม รวมถึงการที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนร่วมกันจัดการอบรมให้ความรู้แก่ประชาชน ซึ่งตั้งเป้าไว้ 3 ล้านคน”
ขณะเดียวกัน ในฝั่งของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมได้มีการเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน และขยายผลสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความเชื่อมั่นว่า จะยกระดับความร่วมมือสู่ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ที่จะกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้ปลอดภัยจากภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การสร้างความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย เป็นความร่วมมือภายใต้ภารกิจ “ปีแห่งความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์
AIS มีการนำกลยุทธ์ 3 ประสาน ได้แก่ 1.เรียนรู้ (Educate) สร้างความเข้าใจและทักษะในการป้องกันภัยไซเบอร์ให้กับเครือข่ายทั้ง Ecosystem เพื่อยับยั้งปัญหาหลอกลวงออนไลน์ตั้งแต่ต้นทาง โดยเฉพาะโครงการอย่างอุ่นใจไซเบอร์ และการสำรวจดัชนีชี้วัดสุขภาวะดิจิมัล
“ตั้งแต่ปี 2019 AIS ได้เริ่มโครงการอย่าง ‘อุ่นใจไซเบอร์’ เพื่อเสริมทักษะการใช้ชีวิตในโลกดิจิทัล ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่านการอบรมในหลักสูตรแล้วกว่า 500,000 คน และตั้งเป้าหมายว่าจะเพิ่มเป็น 3 ล้านคน”
2.ร่วมแรง (Collaborate) ผนึกกำลังกับพาร์ทเนอร์ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ และเอกชน เพื่อร่วมสื่อสารและสร้างแรงขับเคลื่อนสังคม และ 3.เร่งมือ (Motivate) รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนกฎระเบียบ หรือกติกา แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม
“AIS มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมโยงผู้ใช้งานสู่โลกออนไลน์ ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันทางไซเบอร์ และทักษะออนไลน์ภายใต้ภารกิจ “Cyber Wellness for THAIs” เพื่อเสริมสร้างการใช้งานที่ปลอดภัย”
รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการของหน่วยงานภาครัฐ ควบคุมระดับเสาสัญญาณมือถือในพื้นที่ชายแดน ปฏิบัติการร่วมกับตำรวจลงพื้นที่ปราบปรามมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์
“จะเห็นว่าการซื้อซิมในตลาดของ AIS อาจจะมีความยุ่งยากกว่าปกติ เพราะต้องมีการยืนยันตัวตนอย่างชัดเจน แต่ทุกอย่างมีขึ้นเพื่อความปลอดภัยของคนไทยทุกคน เป็นการตัดปัญหาการเปิดซิมเพื่อไปใช้ในการหลอกลวงออนไลน์”
นอกจากนี้ ยังพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเสริมความปลอดภัยไซเบอร์ อย่างบริการสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center และ บริการ *1185# แจ้งอุ่นใจ ตัดสายโจร รวมถึงบริการอย่าง Secure Net เพื่อปิดกั้นลิงก์อันตราย ที่เป็นบริการฟรีสำหรับลูกค้า AIS โดยเฉพาะ